วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พิธีป๊าดต๊ง ของคนไทดำ บ้านนาป่าหนาด

พิธีป๊าดต๊ง
โดย เพชรตะบอง ไพศูนย์

                พิธีป๊าดต๊ง เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับผีเรือนที่สำคัญของชาวไทดำ การป๊าดต๊ง คือ การจัดข้าวปลาอาหารใส่พาน(ป๊านต๊ง)ไปวางไว้เพื่อให้ผีเรือนกินที่กะล่อหอง(ห้องผีเรือน) ผีเรือนของไทดำ มี 2 อย่าง คือ ผีผู้ต้าว กับผีผู้น้อย กะล่อหองผีเรือนผู้ต้าวจะมีฝากั้น เจาะรูเล็กๆที่พื้นห้อง ต่างจากกะล่อหองผีเรือนผู้น้อยที่ไม่มีกั้นฝา เจาะรูเล็กๆที่ข้างฝา พิธีป๊าดต๊งของชาวไทดำ มี 3 อย่าง ได้แก่ ป๊าดต๊งธรรมดา  ป๊าดต๊งใหญ่ และ  ป๊าดต๊งตอนเสนเรือน
การป๊าดต๊งธรรมดา เป็นการนำข้าวปลาอาหารไปให้ผีเรือนกินในมื้อเวนต๊งของตัวเอง 2 ครั้ง คือ ในตอนเช้า และตอนบ่าย ผู้ทำหน้าที่ป๊าดต๊งคือ เจ้าของบ้าน(ผู้ชาย) หรือ ลูกหลานของเจ้าของบ้าน ทำหน้าที่  ป๊าดต๊งได้ทั้งหญิงและชาย คนอื่นห้ามเข้าไปในห้องผีเรือนเด็ดขาด ในสัปดาห์หนึ่งของไทดำ มี  10 วัน คือ มื้อฮับ มื้อฮาย มื้อเมิง เปิ๊ก มื้อกั๊ด มื้อคด มื้อฮ่วง มื้อเต๋า มื้อก๋า มื๋อก๋าบ ผู้มีผีเรือนผู้ต้าวจะป๊าดต๊งสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในมื้อฮายกับมื้อฮ่วง เท่านั้น หรือทุก 5 วัน ต่อสัปดาห์ แตกต่างจากผู้มีผีเรือนผู้น้อย จะป๊าดต๊งสัปดาห์ละ 1 วัน หรือทุก 10 วัน ซึ่งเป็นวันที่เจ้าของบ้านตาย(ห้ามป๊าดมื้อฮายกับมื้อฮ่วง) ผู้ที่ทำหน้ที่ป๊าดต๊งคือลูกหลานของเรือนเท่านั้น ส่วนภรรยาของเจ้าของบ้านป๊าดต๊งไม่ได้ และห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าไปในกะล่อหองอย่างเด็ดขาด เข้าไปได้เฉพาะลูกหลานหลานเจ้าของเรือนเท่านั้น  ขั้นตอนการป๊าดต๊ง ตอนเช้า ก่อนการป๊าดต๊ง ในตอนเช้าจะต้องน้ำบั้งเต้าต๊งมาล้างทำความสะอาดและเติมน้ำให้เต็มแล้วนำไปตั้งไว้ที่กะล่อหอง เมื่อนึ่งข้าวเสร็จใหม่ๆข้าวกำลังร้อนๆ จัดอาหารที่สุกเป็นอาหารใหม่ร้อนๆ นำใส่พานไปวางไว้ที่กะล่อหอง พร้อมบอกกล่าวให้ผีเรือนมากินอาหาร ใช้เวลาประมาณว่าผีเรือนกินข้าวอิ่มแล้ว(20-30 นาที) จึงยกป๊านต๊งออกมา และจะป๊าดต๊งอีกครั้งหนึ่งในตอนบ่าย(ไม่เกิน 4 โมงเย็น) หลังนึ่งข้าวเสร็จใหม่ๆเช่นเดียวกัน และจะเทน้ำในน้ำเต้าต๊งทิ้งที่ช่องที่เจาะไว้ จากนั้นจะนำอาหารมารับประทานก็ได้ อาหารที่ใช้ในการป๊าดต๊งส่วนมากจะเป็นอาหารแห้ง ได้แก่ ปิ้งปลา ไข่ต้ม ปิ้งไก่ จุ๊บผัก(ผักที่นึ่งสุกคลุกกับเกลือ) และผลไม้ ฯลฯ ถ้าเรามีธุระจำเป็น ไม่สามารถป๊าดต๊งได้ในตอนบ่าย ในวันนั้นก็ให้จัดอาหารเป็นสองชุด(สำรับ) หรือให้ญาติป๊าดต๊งแทนก็ได้ ถ้าหากลืมป๊าดต๊งในตอนเช้าจะต้องป๊าดต๊งในตอนบ่าย โดยจัดอาหาร  2 ชุด ไปให้ผีเรือน การป๊าดต๊งเช่นนี้เรียกว่า “ป๊าดต๊งก๊บ”  เพราะเชื่อว่าผีเรือนจะได้กินอาหารครบทุกมื้อ
การป๊าดต๊งใหญ่  เป็นการป๊าดต๊งประจำปีเป็นกรณีพิเศษกว่าการป๊าดต๊งอื่นๆ เป็นการทำพิธีต้อนรับผีเรือนที่ลงมาจากเมืองแถนที่อยู่บนฟ้า ซึ่งในปีหนึ่งๆผีเรือนจะต้องไปเฝ้าแถนหนึ่งครั้งเป็นเวลานานหนึ่งเดือน คือ ผีเรือนจะขึ้นไปเฝ้าแถนตั้งแต่เดือนเก้าถึงเดือนสิบ ดังนั้นในช่วงที่ผีเรือนไปเฝ้าแถนไทดำจะขะลำ คือ จะไม่กระทำสิ่งใดๆที่เป็นการผิดผีอย่างเด็ดขาดเพราะผีเรือนไม่อยู่ ไม่มีผู้คุ้มครองรักษา บางทีผีเรือนอาจถูกแถนจับตัวไว้ ซึ่งผลตามมาคือทำให้ครอบครัวเดือดร้อนซึ่งทำให้แก้ไขยาก การป๊าดต๊งใหญ่ จะป๊าดต๊งในเดือนสิบประมาณเดือนกันยายนของทุกปี โดยกำหนดเอาวันมื้อฮายแรกข้างแรมของเดือนเป็นวันป๊าดต๊งใหญ่ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นชีวิตใหม่ของไทดำ เรือนผู้ต้าวหรือตระกูลสิงลอคำและสิงลอ  จะทำพิธีป๊าดต๊งก่อนวันต่อไปจึงเป็นวันป๊าดต๊งของครัวเรือนของเรือนตระกูลสิงผีผู้น้อย ตามมื้อเวนต๊งของตนเอง ก่อนวันป๊าดต๊งใหญ่เข้าของเรือนจะบอกกล่าวให้ผีเรือนทุกตนทราบก่อนว่าวันรุ่งขึ้นจะทำพิธีป๊าดต๊งใหญ่ ให้มารับอาหารและก่อนวันป๊าดต๊งใหญ่ ญาติพี่น้องจะมาช่วยกันเตรียมงานก่อน เช่น ทำความสะอาดบ้าน ทำข้าวต้มมัด เตรียมอาหารต่างๆให้พร้อมและครบเสียก่อน เจ้าของบ้านหรือผู้ประกอบพิธี  สำรวจดูบริเวณกะล่อหอง ทำความสะอาด เปลี่ยนน้ำเต้าต๊ง ยกป๊านต๊ง(พาน)ที่อยู่ในกะล่อหองออกไปเจ้าของบ้านจะเปลี่ยนน้ำเต้าต๊ง(ผลน้ำเต้าบรรจุน้ำสำหรับให้ผีเรือนกิน เรียกว่า น้ำเต้าต๊ง) ทำกรวยใบตองปิดบั้งเต้าต๊งไว้และมีไม้เจีย 1 อัน ลักษณะทำด้วยไม้ไผ่ที่เหลาให้กลมๆปลายข้างหนึ่งให้เป็นฝอยๆเพื่อเป็นไม้จิ้มฟันและขัดฟันหลังรับประทานอาหาร ในวันป๊าดต๊งใหญ่ลูกหลานทุกคนจะมาร่วมพิธี จัดข้าวปลาอาหารในป๊านต๊งใหญ่เป็นพิเศษ ได้แก่ ไก่ต้มสุกเท่าจำนวนบุตร แกงหน่อไม้ส้มใส่ไก่ ข้าวต้มมัด ผักนึ่งสุก ผลไม้ เผือก มัน จิ้งหรีด   (จุงกุ๋ง) ปิ้งปลา ดักแด้ ต้มหน่อไม้ สุรา ฯลฯ ญาติๆก็จะนำอาหารหรือเครื่องดื่มมาร่วมพิธีด้วย เมื่อเตรียมอาหารใส่พานพร้อมแล้วก็ยกไปวางไว้ที่กะล่อหอง ซึ่งมีเจ้าของบ้านและอนุโลมให้ญาติพี่น้อง ผู้อาวุโส เข้าไปในกะล่อหองเพื่อร่วมพิธีได้  จากนั้นเจ้าของบ้านหรือหมอต๊าม(หมอทำพิธี) จะทำพิธีที่กะล่อหอง การป๊าดต๊งใหญ่ มี  5  ขั้นตอน มีขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 พิธีหยาดฟายเหล้า เริ่มพิธีตั้งแต่ตอนเช้าตรู่ ผู้นำในการประกอบพิธีกรรม ทำความเคารพผีเรือน แล้วนำสุราขาวขวดใหญ่ ที่เจ้าของบ้านจัดเตรียมไว้ให้แล้วเทใส่แก้วให้เกือบเต็ม ทำการหยาดฟายเหล้า(หนองก๊อ)บอกกล่าวผีเรือนก่อนว่า มื้อนี้เป็นมื้อดีเวนจั่น อิได้  ป๊าดต๊ง ฮับเอาผีเฮือนที่ไปเฝ้าแถนตั้งแต่เบือนเก้าเต้าเถิงเบือนสิบ ได้ลงมาจากฟ้าจากแถนแล้วหล่อไหล่ฮานี้น่า...  แล้วต๊ามเหล้าต่อว่า ...เออ เจอ นี้ นา ด้ำ สะ ถ่อ ป๊อ ด้ำ ป๊อ กวาน...(ระบุชื่อและสิง) ด้ำ สะแข แม่ ด้ำ แม่นาง...(ระบุชื่อและสิง)  ด้ำ สะ ถู่ ปู่ ด้ำ ปู่ กวาน...(ระบุชื่อและสิง) ด้ำ สะ ข่า ย่า ด้ำ ย่านาง... (ระบุชื่อและสิง) สามสิบด้ำเฮือน โก๊บ เฮือนกู๊ จุโตน    จุโก๊น เออ เจอ นี้นา ยังมีเหล้ามาหยอดก๊อหน่องฟาย  นี่เน้อเจือกันมา ป๊ากันกิน โก๊นใดว์อย่าเฮี้ยะเบ่าฮู้ ผู้ใดว์อย่าเฮี้ยะเบ่างิน เว้นผู้ใดว์มันลายกายผู้ใดว์มันหม้อมได้กินป๊อม มันอ่าวส่วนดูงาม กินแล้วจั่งให้ว์กุ๊ม ให้ว์กวม ลุเต้าลุหลาน เหลน ผู้โก๊น งัวกว๊ายปายเขา ผีอย่าโซน โก๊นอย่าแป้ ผู้ปี่ อย่าให้ว์เจ็บต๊อง ผู้น้อง อย่าให้ว์เจ็บปูม กินแล้ว เมืออยู่หัวก๊อน เมือนอนหัวขื่อ ผีจิขึ้นต๊างตูเอายูมากั้ง ผีจิขึ้นต๊างหลั้ง เอาเฮาะมาแต๊ง เน้อ ความหมายสรุปได้ว่า “วันนี้เป็นวันดีจะได้ป๊าดต๊ง มีเหล้า มาไว้รับต้อนผีเรือนทุกตน”  จากนั้นจะเทเหล้าลงที่ช่องในห้องกะล่อหองที่เจาะไว้ (สิงลอคำหรือเจาะช่องไว้ที่พื้นเรือน สิงอื่นๆ เจาะช่องไว้ที่ข้างฝา) ช่วงนี้อาจะมีญาติพี่น้องนำสิ่งของมาร่วมด้วย เช่น สุรา เบียร์ น้ำส้มน้ำหวาน นม น้ำผลไม้ ฯลฯ ให้นำไปที่กะล่อหองบอกกล่าวแก่ผีเรือนว่า ใครเอาอะไรมาช่วยบ้าง โดยกล่าวดังๆให้ผู้อื่นได้ยินด้วย
ขั้นที่ 2 ขั้นป๊าดข้าวหรือต๊ามป๊านเข้า เจ้าของบ้านจะเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ที่สำคัญ มารวมกันที่กะล่อหอง เพื่อทำพิธีกรรมต่อ เจ้าของบ้านยกป๊านข้าวที่มีทั้งหมดมาวางเรียงกันในกะล่อหอง สำรวจดูป๊านข้าว(พานข้าว)ที่ลูกหลานจัดมาร่วมงานให้เรียบร้อย เช่น ป๊านข้าว(ป๊านไก่)ของลูกหลานทุกคน คนละ 1 ป๊าน จะต้องมีเครื่องคาวหวานครบและมีป๊านข้าวใหญ่(พิเศษ)อีก 1 ป๊าน เรียกว่า ป๊านข้าวใหญ่ ที่มีอาหารคาวหวานครบ ได้แก่ ไก่ต้ม แกงหน่อส้มใส่ไก่ ปิ้งปลาดุก น้ำผึ้ง ตัวต่อ จุงกุ๋ง(จิ้งหรีด) หน่อไม้ต้ม เผือก มัน กล้วย อ้อย มะก้อเขียว ผลไม้และหมากพลู บุหรี่ เป็นต้น โดยจัดใบตองกล้วยเรียงทับซ้อนกัน 3-5 ชั้นรองอาหารจัดให้เรียบร้อยถูกต้องก่อนวางอาหารคาวหวาน แม่บ้านจะเป็นผู้จัดป๊านข้าว ลูกหลานที่เป็นผู้ชายจะยกเฉพาะ ป๊านข้าวใหญ่ไปวางที่กะล่อหอง(มุมในสุด)ให้ด้านหัวตองหันไปที่ฝาเรือนทางกะล่อหอง จากนั้นจะกล่าวกวามต๊ามป๊าดต๊งว่า ดังนี้ 
เออ ขวบฟ้า มาปี มื้อดี ปีใหม่ มาฮอดมาเถิงแล้ว โอ ป่อแม่ ....(ระบุสิง) ได้ หย่าเอ๊าะ หย่ากำ  ลงมากินเข้าป๊าดต๊ง ป่อต้าว แม่ต้าว มากิน แกงหน่อส้ม ต้มขาไก่ใส่หน่อส้ม เข้าสุกแล้วโปง งายต๊งแล้วปาด หยาดเหล้าลงกินอาย ฟายเหล้าลงกินเหื่อ  หย่าเอ๊าะ หย่ากำ เจ้าปู่หล้ำ หญ่าหล้ำ เจือกันมากินจุหน้า ปากันมากินจุกน ฟันมะมาปากันกิน กินแล้วให้กุ้ม ให้กวมลุเต้า ลุหลาน ไปเสาะไปหา มาตางให้ปลอดภัย ให้ฮั่งมีดีได้ เอ็ดใจดีคือจั่งยังผู้ เอ็ดใจฮู้คือจั่ง ผู้น้องจาย อย่าป่ายไปใส่ลุใส่เต้าเน้อ บัดนี้ได้ขวบฟ้ามาปี เบือนดีปีใหม่แล้ว มื้อดีเวนจั่นแล้ว ได้หย่าเอ๊าะหย่ากำแล้ว ได้ลงมาแต่ฟ้า ต้าวเอย แต่แถนแล้ว เจอนี้ลุจาย  ยังมีป๊านเข้ามาปง ป๊านต๊งมาปาด ต้าวเอย มีเต็งปิ้งปากบปาจี่  มาเย้อ มากินเต็งแกงหน่อส้ม ต้มขาไก่  มากินเย้อ ต้าวเอย เจือกันกินนีหน่ำ กินแล้ว ให้กุ้มให้กวม ปกปักฮักษา ลุเต้า ลุหลาน  อยู่เฮือนให้ยองบ่า อยู่ป่าให้ยองหัว เน้อ จู่อันจู่ก็ฮามี มีเต็งมะอึนึ่งไหหวัก มีเต็งมะฟักนึ่งไหมวย มีเต็งเข้าต้มหนมหมก มีเต็งมะส้มหนมหวาน อ้อยป้องเต้น ลำถี่กินหวาน มีเต็งปาปิ้ง ปาจี่ ลุกวงจ๊าน หลานกวงส้วม ก็ยังมีป๊านไก่มาหา ป๊านปามาสู่ จู่อันจู่ก็มี มีเข้าต้มหนมหวาน มีเต็งเหล้าส่าเด็ดใส่โอ เหล้าสาโทใส่ถ้วย ฟันมะปากันกิน กินแล้ว ให้กุ้ม ให้กวมลุเต้า ลุหลานเน้อ หย่าเอ๊าะหย่ากำ ก็ยังโฮมปี่โฮมน้องมีป๊านเข้ามาหาป๊านปลามาสู่...ป่อต้าวลอคำ...(สิงอื่นๆให้ออกชื่อผีเรือนนั้นๆ)เน้อ อันเหล้ากินเบ่าเลิบ จั่งก่อยไว้  กินเบ่าได้ จั่งก่อยวาง เบ่าจ่างเบาะให้กินหลาย เบ่าจ่างหนายให้กินอิ่ม ฟันมะปากันกินฮ่านี้นะ...” ความหมายสรุปได้ว่า “วันดี ปีใหม่มาถึงแล้ว ลูกหลานมีข้าวปลาอาหารมารับต้อนเอา ขอให้ผีเรือนทุกๆตนกินให้อิ่มเต็มที่ และให้ปกปักรักษาลูกหลาน”
ขั้นที่ 3 ต๊ามสิ่งของต่างๆที่ญาติๆนำมาร่วมพิธีเลี้ยงผีเรือน ทำต่อเนื่องจากขั้นที่ 2 สิ่งของต่างๆที่ญาติๆนำมาร่วมพิธีเลี้ยงผีเรือน เช่น สุรา เบียร์ น้ำส้มน้ำหวาน นม น้ำผลไม้  ขนม ฯลฯ เจ้าของบ้านจะ เปิดสิ่งของทุกอย่างไว้ สำหรับสุรา เบียร์และน้ำส้มน้ำหวาน จัดการรินใส่แก้วโดยแยกแก้วเหล้า เบียร์ แก้วน้ำหวานไว้อย่างละแก้ว จากนั้นจึงหยาดฟายเหล้า เบียร์และน้ำหวาน โดยเทลงที่ช่องในห้องกะล่อหองที่เจาะไว้ (สิงลอคำหรือเจาะช่องไว้ที่พื้นเรือน สิงอื่นๆ เจาะช่องไว้ที่ข้างฝา) พร้อมทั้งใช้ความตาม ดังนี้
เออ เจอ นี้ นา ด้ำ สะ ถ่อ ป๊อ ด้ำ ป๊อ กวาน...(ระบุชื่อและสิง) ด้ำ สะแข แม่ ด้ำ แม่นาง...ระบุชื่อและสิง)ด้ำ สะ ถู่ ปู่ ด้ำ ปู่ กวาน...(ระบุชื่อและสิง) ด้ำ สะ ข่า ย่า ด้ำ ย่านาง... (ระบุชื่อและสิง) สามสิบด้ำเฮือน โก๊บ เฮือนกู๊ จุโตน จุโก๊น เออ เจอ นี้นา ยังมีเหล้ามาหยอดก๊อ หน่องฟาย  เต็งน้ำส้มน้ำหวานของลุหลานปี่น้อง นี่เน้อ เจือกันมา ป๊ากันกิน โก๊นใดว์อย่าเฮี้ยะเบ่าฮู้ ผู้ใดว์อย่าเฮี้ยะเบ่างิน เว้นผู้ใดว์มันลาย กายผู้ใดว์มันหม้อม ได้กินป๊อม มันอ่าวส่วนดูงาม กินแล้วจั่งให้ว์กุ๊ม ให้ว์กวม ลุเต้าลุหลาน เหลน ผู้โก๊น งัวกว๊ายปายเขา ผีอย่าโซน โก๊นอย่าแป้ ผู้ปี่ อย่าให้ว์เจ็บต๊อง ผู้น้อง อย่าให้ว์เจ็บปูม กินแล้ว เมืออยู่หัวก๊อน เมือนอนหัวขื่อ ผีจิขึ้นต๊างตูเอายูมากั้ง ผีจิขึ้นต๊างหลั้ง เอ้อ..ป่อแม่ล้านกำ ฟันมะปากันกินเน้อฮานี้นะ ความหมายสรุปได้ว่า “ญาติพี่น้องได้นำข้าวปลาอาหารมากมายหลายอย่าง ตลอดทั้งเครื่องดื่มนำส้มน้ำหวาน และสุรา ขอเชิญผีเรือนทุกๆตนมากินให้อิ่มหนำสำราญ” จากนั้นให้รอจนกว่าผีเรือนจะกินข้าวอิ่ม  ประมาณ  20  นาที
ขั้นที่ 4 ขั้นกู้ป๊านต๊ง เมื่อได้เวลาประมาณ 20 นาที หมอพิธีหรือผู้ทำพิธี จะกล่าวต๊ามเพื่อกู้ป๊านต๊ง ดังนี้  เออเจอนี้ ขวบฟ้ามาปี มื้อดีดีปีใหม่ ได้มาฮอดมาเถิงแล้ว โอ ป่อแม่ ต้าวลอก๊ำ ได้หย่าเอ๊าะหย่ากำ ได้ลงมากินเข้าป๊าดต๊งแล้ว ป่อต้าว แม่ต้าว ได้ลงมากินแกงหน่อส้ม ต้มขาไก่ใส่หน่อส้ม ข้าวสุกแล้วโปง งายต๊งแล้วปาดแล้ว หยาดเหล้าลงกินอาย ฟายเหล้าลงกินเหื่อ  หย่าเอ๊าะหย่ากำ เจ้าปู่หล้ำ หญ่าหล้ำ ได้เจือกันมากินจุหน้า ปากันมากินจุกนแล้ว ฟันมะมาปากันกิน กินแล้ว สอให้ว์กุ้ม ให้ว์กวม ลุเต้า ลุหลาน ไปเสาะไปหาก็ให้ว์ฮั่งมีดีได้ ไปมาเสาะตางใดว์ก็ให้ว์ปลอดภัย เอ็ดใจดีคือจั่งยังผู้ เอ็ดใจฮู้คือ จั่งผู้น้องจาย อย่าป่ายไปใส่ลุใส่เต้าเน้อ บัดนี้ขวบฟ้ามาปีเบือนดีปีใหม่มาเถิงแล้วเป็นมื้อดีเวนจั่นแล้ว ได้หย่าเอ๊าะหย่ากำแล้ว ได้ลงมาแต่ฟ้า ต้าวเอย แต่แถนแล้ว เจอนี้ลุจาย จังได้มีป๊านข้าวมาปง ป๊านต๊งมาปาดแล้ว เออ ต้าวเอย มีเต็งปิ้งปลากบปลาจี่ มาเย้อ ได้มากินเต็งหน่อส้ม ต้มขาไก่ แล้ว เย้อ ต้าวเอย เจือกันกินนีหน่ำ กินแล้ว ให้กุ้มให้กวมปกปัก ฮักษา ลุเต้า ลุหลาน อยู่เฮือนให้ยองบ่า อยู่ป่าให้ยองหัว เน้อ จู่อันจู่ก็ฮามี มีเต็งมะอึนึ่งไหวัก มีเต็งมะฟักนึ่งไหมวย มีเต็งเข้าต้มหนมหมก มีเต็งมะส้มหนมหวาน อ้อยป้องเต้นลำถี่กินหวาน มีเต็งปาปิ้ง ปาจี่ ลุกวงจ๊าน หลานกวงส้วม ก็ยังมีป๊านไก่มาหา ป๊านปามาสู่ จู่อันจู่ก็ฮะมี มีเต็งเข้าต้มหนมหวาน มีเต็งเหล้าส่าเด็ดใส่โอ เหล้าสาโทใส่ถ้วย ฟันมะปากันกิน กินแล้ว ให้กุ้มให้กวมลุเต้า ลุหลานเน้อ หย่าเอ๊าะหย่ากำ ก็ยังโฮมปี่        โฮมน้อง มีป๊านเข้ามาหาป๊านปลามาสู่ป่อ...”(ระบุชื่อและสิง) แล้วกล่าวต่อว่า “อันเหล้ากินเบ่าเลิบจั่งก่อยไว้  กินเบ่าได้จั่งก่อยวาง เบ่าจ่างเบ๊าะให้กินหลาย เบ่าจ่างหนายให้กินอิ่ม ฟันมะปากันกินฮ่านี้นะ..เอ้อ..ป่อแม่.... ล้านกำ(เฉพาะสิงลอก๊ำ ส่วนสิงอื่นระบุสิงนั้นๆ) ฟันมะปากันกินอิ่มแล้ว ลุหลานเซ้าซิกู้ป๊าน ส้างเซ้าซิเพไหล่ ฮานี้นะ  ความหมายสรุปได้ว่า “เมื่อผีเรือนกินอิ่มแล้ว ลูกหลานจะเก็บ และขอนำอาหารเครื่องดื่มเหล่านี้ไปให้ลูกหลานและญาติพี่น้องกินต่อไป” จากนั้นนำเอาคำหมาก บุหรี่ ที่อยู่ป๊านข้าวใหญ่ออก แล้วนำไปใส่ไว้ที่ จ๊วงก๊ำหรือจ๊วงแป้น หรือถ้าสิงอื่นๆนำไปวางในที่ที่เหมาะสมมุมห้อง
ขั้นที่ 5 ขั้นเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน ยกป๊านข้าวออกมาแล้วให้แม่ครัวนำไปปรุงเป็นอาหาร จัดอาหารแจกจ่ายและเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานให้ได้รับประทานอาหารร่วมกัน ส่วนป๊านเข้าใหญ่นั้น(พาข้าวใหญ่) ให้นำไปจัดให้แขกสำคัญในกะล่อหองรับประทาน ก่อนกลับแขกผู้มาร่วมงานจะอวยพรให้เจ้าบ้านอยู่เย็นเป็นสุข เจ้าภาพกล่าวขอบคุณและให้พรกลับไปเช่นเดียวกัน เป็นอันเสร็จพิธี
ป๊าดต๊งใหญ่ ปีนี้ ตรงกับ วันที่ 3 ตุลาคม 2553


การป๊าดต๊งวันเสนเรือน ก่อนทำพิธีเสนเรือนจะป๊าดต๊งให้ผีเรือนกินก่อนเสมอ โดยจัดการเปลี่ยนน้ำในบั้งเต้าต๊งใหม่ เมื่อนึ่งข้าวเสร็จ ข้าวกำลังร้อนๆ อาหารใหม่ๆร้อนๆ จะจัดใส่ป๊านต๊ง(พาน)แล้วนำไปวางไว้ที่ห้องกะล่อหอง เมื่อกู้ป๊านต๊งแล้วจึงจะทำพิธีการเสนเฮือนหรือหล่อเฮือนต่อจนจบพิธีเสนเรือน จะไม่ทำการป๊าดต๊งในตอนบ่าย  คำกล่าวป๊าดต๊ง “ข้าวลงปงข้าวต๊งปาด กินอิ่มแล้ว ก้ำจู่เฮือน ลุ ก่วง ซาน หลาน ก่วง ส้วม กุ้มกวมเน้อ...  (ประยูร ซ้อนเติม, สัมภาษณ์, 15 มีนาคม 2552)  หมายความว่า ข้าวสุกใหม่ๆ ได้นำมาให้ผีเรือนกิน ขอให้ปกป้องคุมครองลูกหลานทุกคน

ปัจจุบันการป๊าดต๊งของไทดำบ้านนาป่าหนาด ประเทศไทย ยังคงปฏิบัติการป๊าดต๊งอยู่เหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งการป๊าดต๊งธรรมดา การป๊าดต๊งใหญ่และการป๊าดต๊งในวันพิธีเสนเฮือนหรือหล่อเฮือน อุปกรณ์ป๊าดต๊ง ยังคงเหมือนเดิม เช่น บั้งเต้าต๊ง ถ้วยข้าว ป๊านต๊ง อาหารที่นำมาป๊าดต๊งยังคงเป็นแบบง่ายๆเหมือนเดิม เช่น ปิ้งปลา ปิ้งไก่ ไข่ต้ม จุ๊บผักใส่เฉพาะเกลือ ผลไม้ เป็นต้น วันป๊าดต๊งของผีเรือนผู้ต้าวคงป๊าดต๊งมื้อฮายกับมื้อฮับเท่านั้น และวันป๊าดต๊งผีเรือนผู้น้อย ยังคงป๊าดต๊งในวันที่เจ้าของบ้านตายหรือวันที่เอาผีขึ้นเรือน ญาติพี่น้องที่มาร่วมงานที่ไม่ใช่คนในครอบครัว นิยมซื้อนำส้มน้ำหวานสำเร็จรูปไปให้เจ้าภาพในการมาร่วมเลี้ยงผีเรือนด้วย ที่เมื่อก่อนชาวบ้านมาร่วมงานธรรมดาโดยไม่ต้องนำอะไรมา จะไปร่วมงานเฉยๆ และร่วมรับประทานอาหาร ที่เรียกว่า กินข้าวป๊านต๊งร่วมกัน เป็นการร่วมกันต้อนรับผีเรือนของเรือนหลังนั้น การนำสิ่งของไปช่วยเจ้าภาพ เป็นสิ่งดีงามของวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่อาจทำให้วัฒนธรรมการป๊าดต๊งถูกปรับเปลี่ยนไป เพราะผู้ที่มาร่วมงานบางคนไม่มีเงิน ไม่มีสิ่งของมาให้เจ้าภาพก็ไม่สบายใจ หรืออาจไม่อยากมาร่วมงานด้วย ผู้มีผีเรือนเป็นผีผู้น้อยแต่ป๊าดต๊งใหญ่พร้อมผีเรือนผู้ต้าว เชื่อว่าผีผู้น้อยจะนำอาหารเหล่านั้นไปให้ผีผู้ต้าวที่เป็นผู้ใหญ่กินก่อน ทำให้ผีเรือนผู้น้อยไม่ได้กินอาหารเหล่านั้น อาหารที่นำมาป๊าดต๊ง จากการสังเกต พบว่า เป็นอาหารประเภทของแห้งง่ายๆ ไม่ต้องใช้จำนวนมาก  เช่น ปลาซิวหนึ่งตัว กล้วยสุกหนึ่งใบ เป็นต้น อาหารไม่ได้เป็นเรื่องที่เดือดร้อนของลูกหลาน บางคนกล่าวว่า ข้าวปลาอาหารที่นำไปให้ผีเรือนกินนั้น ยังเหลือไว้ให้ลูกได้กินอีกต่อหนึ่ง ต่างกับเอาลาบ ก้อย หอย ปู ปลา ผ้าเสื้อ ข้าวของดีๆไปถวายพระที่วัด ลูกหลานไม่ได้กินไม่ได้ใส่ แต่ห้ามไม่ให้ใช้พริก กับ ปลาร้า ป๊าดต๊งเด็ดขาดเพราะผีเรือนไทดำไม่ชอบพริกกับปลาร้า ผีเรือน ก็คือ ผีพ่อแม่ หรือ สมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิตไป ซึ่งลูกหลานได้ทำพิธีอัญเชิญมาเป็นผีเรือน โดยจัดให้อยู่ที่กะล่อหอง และลูกหลานที่สืบผีเรือนจึงมีหน้าที่คอยเลี้ยงดูเอาใจใส่ คอยจัดข้าวปลาอาหารไปให้ผีเรือนรับประทานในวันป๊าดต๊ง เพื่อไม่ให้ผู้เป็นผีเรือนอดอยากลำบาก และให้ผีเรือนปกป้องคุ้มครองลูกหลาน รักษาบ้านเรือนไม่ให้ผู้ร้าย ขโมยมาลักสิ่งของ ดูแลรักษาสัตว์เลี้ยง ตลอดทั้งดูแลรักษาทรัพย์สมบัติต่างๆของครอบครัว สิ่งของที่อยู่ในกะล่อหอง ได้แก่ พานต๊ง ถ้วยข้าว บั้งเต้าต๊ง ไต๊ ลูกหลานจะป๊าดต๊งให้ผีเรือนกินอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีเหตุไม่ดีกับคนในครอบครัวก็จะไปวานผีเรือนให้คุ้มครองรักษา นับว่าเป็นผูกพันกันระหว่างคนมีชีวิตอยู่กับคนที่ตายไป แม้จะอยู่คนละภพกัน ก็ยังคิดถึงและห่วงใยกัน ในห้องผีเรือนบางครอบครัวจะยกพื้นตรงที่ผีเรือนอยู่ให้สูงขึ้นกว่าพื้นปกติ จากเดิมที่วางบนพื้นธรรมดาไม่มีการยกระดับให้สูงขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาที่ยกพื้นเพื่อตั้งพระพุทธรูป ที่อยู่ผีเรือนจึงคิดว่าควรยกให้สูงได้เหมือนกัน แสดงให้เห็นว่ามีการรับเอาอิทธิพลในการนับถือพระพุทธศาสนา เข้ามาผสมกลมกลืน การสืบผีเรือนนั้น บุตรชายจะเป็นผู้สืบผีเรือนหรือสืบวงศ์ตระกูล เมื่อพ่อแม่ได้เสียชีวิตลง ผู้ที่เป็นบุตรชายทุกคนที่ออกเรือนไปจะต้องทำกะล่อหองไว้ที่มุมบ้านของตน ถ้าไม่มีลูกชายจะให้หลานชาย หรือถ้าไม่มีหลานชาย ก็ให้ลูกสาวเอาไปเลี้ยงแต่จะทำตูบให้อยู่ข้างล่าง เพื่อไม่ให้ผีพ่อแม่ของตนไปอยู่กะล่อหองในบ้านของสามีตน ส่วนลูกๆทั้งผู้หญิงและผู้ชายของเจ้าของบ้าน สามารถเข้าไปในห้องผีเรือนได้เพราะถือว่าลูกๆ คือ เชื้อสายของผีเรือน(เมียไม่ใช่เชื้อสายผีเรือน) เมื่อตายไปก็จะเป็นผีเรือนหลังนั้น เมียของเจ้าของบ้านหลังนั้นไทดำถือว่า “ซื้อตายขายขาดแล้ว” จะเข้าไปในห้องกะล่อหองบ้านสามีก็ไม่ได้ แม้ตายไปเป็นผีก็ต้องไปเป็นผีเรือนให้กับลูกชายของตนเท่านั้น ถ้าไม่มีลูกชาย ลูกสาวต้องเอาไปเลี้ยงโดยการทำตูบน้อยให้อยู่ และลูกสาวจะเป็นผู้ป๊าดต๊งให้กิน ที่บ้านนาป่าหนาด ประเทศไทย มีอยู่หลังหนึ่ง คือ บ้านเอ็มเฒ่าเซียงทุน
กล่าวโดยสรุป การป๊าดต๊งของไทดำบ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ยังถือปฏิบัติอยู่เหมือนเดิมอย่างเคร่งครัด ทั้งการป๊าดต๊งธรรมดาและป๊าดต๊งใหญ่ ส่วนการป๊าด๊งตอนเสนเรือนนั้น ไม่ค่อยได้ป๊าดต๊งเพราะไม่ค่อยมีการเสนเรือนเหมือนในอดีต ในห้องผีเรือนบางครอบครัวจะยกพื้นตรงที่ผีเรือนอยู่ให้สูงขึ้นกว่าพื้นปกติ จากเดิมที่วางบนพื้นธรรมดาไม่มีการยกระดับให้สูงขึ้นแต่อย่างใด


ความเชื่อเรื่องผี ชองชาวไทดำ บ้านนาป่าหนาด

ความเชื่อเรื่องผี
โดย เพชรตะบอง ไพศูนย์
           
ชาวบ้านนาป่าหนาด นับถือผี พิธีกรรมต่างๆจึงเกี่ยวข้องกับผี    ผีในที่นี้หมายถึงเทวดาที่ให้ความคุ้มครองหรือทำโทษ   ผีมีหลายชนิดดังต่อไปนี้
1.            แถน หรือผีฟ้า เป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า   มีอำนาจเหนือสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้อยู่ใต้อำนาจของแถนทั้งสิ้น  
2.             ผีเมือง  เป็นผีที่รักษาเมืองจะอาศัยอยู่ทั่วไปในเขตดินแดนของชาวไทดำ
3.            ผีบ้าน  หรือเจ้าบ้าน  เป็นผีที่รักษาคุ้มครองหมู่บ้าน จะอาศัยอยู่หอเจ้าบ้าน
4.             ผีเรือน   หรือผีเฮือน  เป็นผีที่รักษาคนในครอบครัว จะอาศัยอยู่กะล่อหอง
5.            ผีประจำที่ ได้แก่ ผีบันได  ผีประตู  ผีเตาไฟ   จึงมีพิธี จี่ไฟไหข้าว
6.            ผีเจ้าที่ ได้แก่ ผีไร่ ผีนา
7.            ผีป่า เป็นผีของผู้ส้าที่ตาย ที่รักษาป่า  จะอาศัยอยู่ในป่า ต้นไม้  ถ้ำ
8.            ผีร้าย  ได้แก่ ผีปอบ  ผีเป้า  ผีโพง  ผีกระสือ ผีห่า ผีพวกนี้จะทำร้ายคน  จะไม่มีการบูชา

                                                             

"แถน"ตามความเชื่อของคนไทดำ บ้านนาป่าหนาด

เรื่องแถน
เรียบเรียงโดย ดร.เพชรตะบอง  ไพศูนย์
           
แถนเป็นเทพเจ้าที่อยู่บนสวรรค์ชั้นสูงสุดบนฟ้า  มีอำนาจเหนือทุกสิ่งทุกอย่างในโลก และจักรวาล สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต อยู่ใต้อำนาจของแถนทั้งสิ้น   ชาวไทดำนับถือแถน แถนมีอยู่ 10  แถน ได้แก่
1.                แถนหลวง เป็นหัวหน้าของแถนทั้งหมดบนฟ้า มีหน้าที่ กำกับ ควบคุม  ดูแลแถนต่างๆทั้ง  9 แถน ให้ปฏิบัติหน้าที่ รับผิดชอบ ตามที่ได้รับมอบหมาย บริหารอย่างยุติธรรมและเที่ยงธรรม ตามกฎของแถน
2.                แถนปัวกาลาวี มีหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดิน น้ำ ลม(อากาศ) ไฟ(อุณหภูมิ) ให้เป็นไปตามฤดูกาล
3.                แถนแนน มีหน้าที่เป็นผู้ผลิตมนุษย์ ตามชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ฝรั่ง นิโกร จีน ไทย ลาว เขมร แกว  ฯลฯ เป็นต้น
4.                แถนซาด มีหน้าที่เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์ สัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ กำหนดอายุให้สั้น หรือยาว ซึ่งแถนซาดมอบให้แม่เบ้าแม่นางเป็นผู้ทำขวัญใส่ไว้ในจุดต่างๆในร่างกายทำให้มีชีวิตดำรงอยู่ได้
5.                แถนบุญ มีหน้าที่เป็นผู้บันดาลความร่ำรวย ความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงาม
6.                แถนก๊อ มีหน้าที่เป็นผู้ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ หรือทำให้เจ็บป่วย
7.                แถนเคาะ มีหน้าที่เป็นผู้ที่ทำให้เกิดความเคราะห์ร้ายต่างๆนานา และภัยพิบัติ
8.                แถนสิง มีหน้าที่รักษาตระกูลสิง ให้ผู้อยู่ในตระกูลสิงมีความสุขสุขตั้งแต่เกิดจนตายแล้วขึ้นไปอยู่บนฟ้าตามที่แถนสิงจัดให้(สิงหมาย ตระกูล แซ่)
9.                แถนสัด มีหน้าที่เป็นผู้ควบคุมความประพฤติของมนุษย์ ลงโทษคนไม่ดีและคุ้มครองคน ดีให้พ้นภัย
10.        แถนนุ่งขาว มีหน้าที่ เป็นผู้ให้แสงสว่าง สติปัญญา ความเฉลียวฉลาด พรสวรรค์ ให้มนุษย์

วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

สอนภาาษาไทดำในโรงเรียน

นางคำเกลี้ยง ครูชาวบ้านได้ทดลองสอนภาษาไทดำในโรงเรียนชั้น ป. 4 เด็กๆชอบใจมาก อยากอ่านและเขียนหนังสือไทดำได้ แต่ทางโรงเรียนไม่มีงบประมาณเป็นค่าตอบแทนให้กับผู้สอน ต้องการผู้ใจบุญช่วยเหลือด้วย เดือนละ 4,000 บาท /ส่งไปที่ ppaisoon@hotmail.com

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

ทีมวิจัยชาวบ้าน

ทีมวิจัยชาวบ้านนาป่าหนาด ประกอบด้วย นายเพชรตะบอง นายแหวน นายุเมธ นางเกลี้ยง นางประจักษ์ นางอิ๋ว นางกล้วย นายบอย นางไหม นายเชย

ชาวบ้านวิจัย

                                              ไทดำวิจัย                                         

ชาวไทยดำบ้านนาป่าหนาด นำโดยนายเพชรตะบอง ไพศูนย์ ทำการวิจัยแนวทางการฟื้นฟูภาษาไทยดำ ร่วมกับมหาวิยาลัยมหิดล ขณะนี้ต้องการให้ชาวบ้านนาป่าหนาดมาร่วมเป็นนักวิจัยชาวบ้าน เพื่อนำภาษาไทดำทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งในชุมชนไทดำ และจัดเป็นหลักสูตรการศึกษา ซึ่งทีมวิจัยได้นำไปทดลองสอนที่โรงเรียนบ้านนาป่าหนาด ในภาคเรียนท่ี 1//2553 ปรากฎว่า ประสบความสำเร็จ คณะครูและผู้บริหารโรงเรียนให้การสนับสนุนดีมาก คาดว่า อีกไม่นาน ชาวไทดำทุกคนที่บ้านนาป่าหนาดจะสามารถอ่านเขียนภาษาไทดำ ได้แน่นอน ขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมในการวิจัยครั้งนี้

        สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ที่ เพชรตะบอง ไพศูนย์ 083-332-2828
                                                  e-mail : pettabong@gmail.com